โรคมะเร็งลูกตานั้นจะพบได้น้อย และที่พบได้บ่อยจะเป็นเด็ก คือ มะเร็งของจอรับภาพหรือเรติโนบลาสโตมา(Retinoblastoma) โดยจะพบในลักษณะแวววาวคล้ายตาแมวเวลาต้องแสงไฟ ซึ่งโรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ดังนั้นผู้ที่มีญาติเป็นโรคมะเร็งชนิดนี้ควรดูแลรักษาและตรวจสอบดวงตาอยู่เสมอ และหมั่นพบจุกษุแพทย์เพื่อตรวจหาโรคเป็นครั้งคราว
สำหรับผู้ใหญ่อาการผิดปกติที่พบ มักจะเกิดจากมะเร็งตำแหน่งอื่น ๆ มากกว่าดวงตา แต่จะมีอาการแสดงออกทางดวงตาที่มีส่วนสัมพันธ์กับมะเร็ง คือ
ตามัว จะเกิดกับดวงตาทั้งสองข้าง มีสาเหตุมาจากความดันภายในของกระโหลกศีรษะ อาจจะเป็นอาการเริ่มแรกของการเกิดเนื้องอกในสมอง หรือการกระจายของมะเร็งอื่น ๆ มายังสมอง อาจจะมีอาการอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย เช่น ปวดศีรษะ อาเจียนโดยไม่มีอาการคลื่นไส้ แขนขาอ่อนแรง แต่ว่าหากพบความผิดปกติในดวงตาข้างเดียวมักเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับดวงตา
เห็นภาพซ้อน สาเหตุมาจากความอ่อนแอของกล้ามเนื้อตา โดยมักจะเป็นกล้ามเนื้อที่ดึงในตากรอกไปทางหางตา และเป็นกับตาข้างเดียว อาจทำให้เกิดอาการตาเหล่ เข้าหัวตา แต่หากกล้ามเนื้อยังไม่อ่อนแรงมาก ให้สังเกตโดยการเหลือบตาข้างนั้นไปทางหางตา ลูกตาจะไม่สามารถเหลือบไปได้จนสุด
ตาสองข้างไม่สามารถเคลื่อนที่ไปได้อย่างสัมพันธ์กัน ทำให้เกิดภาพซ้อน เกิดอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ สาเหตุเกิดจากมะเร็งโพรงหลังจมูก ที่ลุกลามเข้าสู่ฐานกระโหลก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 6 เลี้ยงกล้ามเนื้อตาอยู่
ลานสายตาแคบลง ในระดับปกติของลานสายตาเมื่อตาอยู่ในตำแหน่งมองตรง ลานสายตาจะกว้างออกไปประมาณ 100-110 องศา และด้านใกล้ 50 องศา โดยลานสายตาที่แคบลงนี้ เกิดจากการกดเบียดประสาทตา ช่วงที่อยู่ในกระโหลกศีรษะ และมักพบในโรคเนื้องอกของต่อมใต้สมอง(Pituitary tumur)
มีก้อนเนื้อในเยื่อบุตาหรือเปลือกตา อาจจะเป็นมะเร็งของเยื่อบุตาหรือเปลือกตา
ตาโปนข้างเดียว สาเหตุจากการที่เนื้องอกในกระบอกตา เช่น มะเร็งโพลงไซนัส หรือการแพร่กระจายของมะเร็งจากที่อื่นมายังกระบอกตา ถ้าพบว่าตาโปนทั้งสองข้าง มักเป็นโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
ที่มา ไกรภพ สาระกูล. พลังธรรมชาติบริสุทธิ์ ยุติมะเร็ง. (หน้า 20-21) : พิมพ์ที่ บริษัท ฐานบัณฑิต จำกัด